ข้อมูลโรงเรียน

ประวัติโรงเรียน

เปิดการเรียนการสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนบ้านโนนศรีทอง สาขาภูนกเขียน” โดยชาวบ้านช่วยกันสร้างอาคารเรียนชั่วคราวหลังคามุงแฝก ใช้ไม้รวกตีทำเป็นฝาผนัง บนเนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา โดย นายบุญตา(แว่น) ขำเขว้า เป็นผู้บริจาคให้ และต่อมา นางสังฆ์ ประจำเมือง ได้บริจาคที่ดินผืนติดกันให้อีก 3 ไร่ รวมเป็น 14 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา และมีครูจากโรงเรียนแม่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาสอนภาคเรียนละ 2 คน

เดือน เมษายน พ.ศ. 2537 กลุ่มอาสาพัฒนา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มาออกค่ายสร้างอาคารชั่วคราวเสาคอนกรีต หลังคามุงสังกะสี ขนาด 8×8 เมตร 1 หลัง

เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2538 กลุ่มอาสาพัฒนาชนบท 08 ได้มาออกค่ายอาสาพัฒนา สร้างอาคารเรียนคอนกรีต หลังคามุงกระเบื้อง ขนาด 6×6 เมตร 3 ห้องเรียน 1 หลัง

พ.ศ. 2539 ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียนถาวร แบบ สปช. 101/2526 ราคา 780,000 บาท

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ได้รับอนุมัติให้เป็นโรงเรียนเอกเทศ ชื่อว่า “โรงเรียนบ้านภูนกเขียน” โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัดชัยภูมิ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2540 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2540

ปัจจุบัน โรงเรียนบ้านภูนกเขียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลท่าใหญ่ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ จัดการเรียนกาสรสอนตั้งแต่ระดับชั้น อนุบาล 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มี นายกำพล วันชัย เป็นผู้บริหารสถานศึกษา มีข้าราชการครูทั้งหมด 3 คน พนักงานราชการ 1 คน นักการภารโรง (ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน) 1 คน และนักเรียนทั้งสิ้น 57 คน มีเขตพื้นที่บริการ 1 หมู่บ้าน คือ บ้านภูนกเขียน

สภาพปัจจุบันของโรงเรียน

สภาพทางภูมิศาสตร์

โรงเรียนบ้านภูนกเขียน ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลท่าใหญ่ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ระยะทางห่างจากอำเภอหนองบัวแดง 26 กิโลเมตร ระยะทางห่างจากจังหวัดชัยภูมิ 85 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

ทิศเหนือ จดที่ไร่ ยาวประมาณ 3 เส้น

ทิศใต้ จดถนนเข้าหมู่บ้าน ยาวประมาณ 3 เส้น

ตะวันออก จดที่ไร่ ยาวประมาณ 5 เส้น

ทิศตะวันตก จดที่นา ยาวประมาณ 5 เส้น

ด้านภูมิประเทศ

โรงเรียนบ้านภูนกเขียน ตั้งอยู่บนที่ราบสูง ซึ่งมีป่าไม้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง มีที่ราบระหว่างเนินเขา บริเวณรอบโรงเรียนเป็นเป็นเนินเล็กๆ ไม่สูงมาก ประชาชนใช้ทำไร่ ทำนาและป่าไม้ สภาพของดินเป็นดินเหนียวปนทราย ไม่อุ้มน้ำ ทำให้ขาดแหล่งน้ำ ฤดูแล้งจะร้อนและแห้งแล้งมาก